อุซามะฮ์ อิบน์ ซัยด์

อุซามะฮ์ อิบน์ ซัยด์ (อาหรับ: أسامة بن زيد‎, อังกฤษ: Usama ibn Zayd) เป็นสาวกของท่านนบีมุฮัมมัดที่สำคัญคนหนึ่ง มารดาของท่านอุซามะหฺมีชื่อว่า บะร่อกะหฺ อัลฮะบะชียะหฺ ทาสดำจากฮะบะชะหฺ (อบิสสิเนีย) มีฉายาว่า อุมมุอัยมันนางเคยเป็นทาสของนาง อามินะหฺ บินติวะหับ ซึ่งเป็นมารดาของท่านนบีมุฮัมมัด เคยเป็นพี่เลี้ยงดูท่านนบีในขณะที่ยังเล็กอยู่ ท่านนบีจึงรัก อุมมุ อัยมันมาก ส่วนบิดาของอุซามะหฺคืออดีตบุตรบุญธรรมของท่านนบีและผู้ที่ท่านนบีรัก นั่นคือ เซด บินฮาริษะหฺ ซึ่งในอดีตเป็นทาสของท่านหญิงคอดีญะหฺ แต่ท่านนบีได้ปลดให้เป็นไท ถึงกระนั้นเซด ก็ไม่ยอมกลับไปถิ่นฐานเดิม แม้ว่าพ่อของเขาจะเดินทางมาอ้อนวอนให้กลับไปก็ตามหากประวัติศาสตร์ถูกต้อง อุมมุอัยมันผู้เป็นแม่ของอุซามะหฺก็คงจะมีอายุมากกว่าบินเซดหลายปี เพราะหากสมมุติว่าอุซามะหฺมีอายุราว 20 ปีในปี ฮ.ศ.ที 11 อุซามะหฺก็คงจะเกิดในราวปีที่ 9 ก่อนฮิจญ์เราะหฺ หลังจากอุมมุอัยมันเสียชีวิต ท่านนบีได้สู่ขอ นางซัยนับ ผู้ลูกพี่ลูกน้องของท่านให้แต่งงงานกับเซดฺ แต่การแต่งงานก็ยืนยาวไปไม่ได้นาน เพราะ นางซัยนับ ไม่อาจทำใจยอมรับผู้ที่เคยเป็นทาสมาเป็นสามีได้ จนอัลลอหฺได้ทรงประทานโองการอัลกุรอานลงมาสะสางกรณีพิพาทอันนี้ เซด บิดาของอุซามะหฺจึงเป็นสาวกเพียงคนเดียวที่อัลกุรอานระบุชื่อไว้เป็นอมตะนิรันดร์เมื่ออุซามะหฺเป็นโตเป็นหนุ่ม อุซามะหหฺมีบุคลิกดี มีมรรยาทเรียบร้อย เป็นคนฉลาดหลักแหลมกล้าหาญ เป็นผู้มักน้อยและเป็นที่รักใคร่ชื่นชมของบุคคลทั่วไป เป็นผู้ยำเกรงอัลลอหฺ นอบน้อม ถ่อมตน ในวันเกณฑ์ทัพสู่สมรภูมิ“อุฮุด” ในเดือนมีนาคม 625 อุซามะหฺ พร้อมกับเยาวชนกลุ่มหนึ่ง ได้เข้ามาหาท่านร็อซูลเพื่ออาสาสมัครเข้าร่วมศึกด้วย แต่ท่านรอซูลไม่ได้รับไว้ทั้งหมด เนื่องจากพวกเขาส่วนมากยังเป็นเด็กอยู่ ซึ่งอุซามะหฺก็เป็นหนึ่งในจำนวนเด็ก ๆ ที่ท่านนบีไม่อนุญาตให้ออกศึก อุซามะหฺ ผิดหวังร้องไห้ด้วยความเสียใจ ต่อมาเมื่อชาวมุชริกูนมักกะหฺยกทัพมาหมายตกรุงมะดีนะหฺ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 627 (ศึก “คอนดัก”) อุซามะหฺ และเพื่อน ๆ ก็มาหาท่านร็อซูล เพื่ออาสาสมัครต่อสู้กับฝ่ายศัตรูอีกครั้งหนึ่ง ในการคัดตัวครั้งนี้ท่านอุซามะหฺซึ่งมีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น ก็ พยายามเขย่งส้นเท้าเพื่อให้ดูสูงขึ้น ท่านรอซูลเห็นความตั้งใจที่ดีของอุซามะหฺเช่นนั้น ก็อนุมัติให้ท่านเข้าเป็นพลทหารรบกับข้าศึกได้ แต่กองทัพชาวมักกะหฺต้องถอยกลับไป เพราะมีพายุพัดมาอย่างรุนแรงจนตั้งทัพไม่ได้ จึงไม่ทันได้ประจัญบานกันในสมรภูมิ ฮุเนน เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 630 กองทัพมุสลิมเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ทหารคนอื่น ๆ เตลิดหนีขวัญกระเจิงไปหมด แต่อุซามะหฺก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับ ท่านอับบาส ลุงของท่านรอซูล อะลีย์ ลุกเขยท่านรอซูล และท่านอบูซุฟยาน อิบนุลฮาริษ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านนบีและศอฮาบะหฺผู้มีเกียรติอื่น ๆ อีกจำนวน 5 ท่านในสมรภูมิ มุอ์ตะหฺ ในจอร์แดนนั้น อุซามะหฺได้เข้าต่อสู้กับศัตรูของอิสลาม ภายใต้การนำทัพของบิดาของท่านเอง คือท่านเซด อิบนุลฮาริษะหฺ ขณะนั้นท่านเพิ่งมีอายุได้ไม่เกิน 17 ปี และในศึกครั้งนั้นท่านเห็นบิดาล้มคว่ำจมกองเลือดและสิ้นชีวิต แต่ก็มิได้ทำให้ท่านขวัญเสียแต่ประการใดท่านอุซามะหฺยังคงยืนหยัดต่อสู้แม้ว่ารองแม่ทัพคนที่ 1 คือ ญะอฺฟัร บินอะบีฏอลิบ (พี่ชายของอะลีย์ บินอะบีฏอลิบ) และรองแม่ทัพคนที่ 2 คือ อับดุลลอหฺ บินรอวาฮะหฺจะถูกสังหารสิ้นชีวิตไปอีกสองคน และท่านก็ยังสู้ต่อไป ภายใต้การนำของรองแม่ทัพคนที่ 3 คือ คอลิด อิบนุลวะลีด และในที่สุด คอลิด ก็ได้สถานการณ์นำทหารจำนวนน้อยถอยทัพกลับมาได้ ท่านอุซามะหฺต้องสูญเสียบิดาที่สนามรบ มุอ์ตะห และท่านก็ขี่ม้าสงครามตัวที่บิดาใช้ขี่เข้าประจัญบานจนถึงแก่ชีวิตนั้นกลับเข้าเมืองมะดีนะหฺจนกระทั่งวันจันทร์ที่ 26 เดือนศอฟัร ปี ฮ.ศ. 11 นบีมุฮัมมัดก็ได้มีคำสั่งให้จัดกองทัพเพื่อต่อสู้กับฝ่ายโรมันในจอร์แดนอีกครั้ง โดยท่านร็อซูลได้แต่งตั้งให้อุซามะหฺเป็นแม่ทัพซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุไม่เกินกว่า 20 ปี จึงเป็นเหตุให้เหล่าสาวกอาวุโสไม่พอใจที่ท่านรอซูลได้เปลี่ยนธรรมเนียมการนำ โดยไม่ได้ให้สาวกอาวุโสที่เป็นชาวอาหรับ แต่กลับแต่งตั้งให้ลูกทาสที่มีอายุไม่เกินกว่า 20 นั้นเป็นผู้นำ และให้สาวกอาวุโสเช่น อะบูบักรฺ และ อุมัร อิบนุลคอฏฏอบ ต้องเสียหน้าเข้าเป็นไพร่พลธรรมดาในกองทัพ เวลานั้นท่านรอซูลเกิดป่วยหนัก และรู้ว่าท่านกำลังจะเสียชีวิต แต่ก็บัญชาให้อุซามะหฺเคลื่อนทัพ ไม่ฟังคำแย้งและคำนินทาของสาวก เพราะท่านนบีต้องการที่จะเน้นให้สาวกเห็นว่า ในอิสลามนั้นทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันหมด แม้จะต่างกันในเรื่องสีผิวหรือเผ่าพันธ์ แต่การป่วยของท่านนบีก็เป็นสิ่งที่สาวกใช้อ้างอิงเพื่อหยุดทัพไม่ออกไปตามคำสั่งของท่านนบี และหลายคนก็เดินกลับเข้ามาในเมืองเพื่อจดจ้องดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากท่านนบีเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ท่านนบีจึงประกาศสาปแช่งว่า ความอัปรีย์จงประสบแก่ผู้ที่ไม่ยอมออกรบกับอุซามะหฺต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ 12 เดือนร็อบีอุลเอาวัล ฮ.ศ.ที่ 11 ซึ่งตรงกับ 8 มิถุนายน ปี ค.ศ. 632 นบีมุฮัมมัดก็สิ้นชีวิต บรรดาพี่น้องมุสลิมส่วนมากก็ได้ให้สัตยาบันแด่อะบูบักรฺ เป็นคอลีฟะหฺ สืบตำแหน่งผู้ปกครอง ดังนั้นอะบูบักรฺ จึงสั่งให้กองทัพภายใต้การนำของอุซามะหฺมุ่งหน้าสู่ดินแดนโรมัน เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซูลต่อไป แต่อุมัรและสาวกอาวุโสกลุ่มหนึ่งได้เสนอแก่อะบูบักรฺ ให้เลื่อนการส่งกองทหารไปรบกับพวกโรมันออกไปอีกสักระยะหนึ่ง หรือไม่ก็ให้เปลี่ยนตัวผู้ที่เป็นแม่ทัพเสียใหม่โดยให้เอาคนอาวุโสกว่าอุซามะหฺ อะบูบักรฺเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงคำสั่งของท่านนบี นอกจากจะเป็นความผิดแล้วยังอาจจะให้ผู้คนตั้งครหานินทาได้ จึงตัดสินใจไม่ยอมรับฟังคำเสนอของสาวกขณะที่กองทัพมุสลิม ภายใต้การนำของแม่ทัพหนุ่ม กำลังจะเคลื่อนพลออกไปสู่สนามรบในจอร์แดนนั้น คอลีฟะหฺอะบูบักรฺ ได้ออกไปส่งกองทัพถึงชานเมือง และให้โอวาทต่อบรรดาทหารเหล่านั้นอุซามะหฺได้นำทัพออกปฏิบัติภารกิจที่สำคัญตามคำสั่งของนบีมุฮัมมัด (ศ) สามารถนำทหารม้าเข้าไปตั้งค่ายอยู่ ณ บัลกออฺและที่ป้อมปราการ อัดดารูม ในปาเลสไตน์ ตามคำบัญชาของท่านนบี (ศ)ในที่สุดอุซามะหฺก็ปฏิบัติภารกิจจนบรรลุผลสำเร็จ และกลับมามะดีนะหฺอย่างวีรบุรุษ ท่านนั่งอยู่บนหลังม้าตัวเดียวกันกับที่บิดาของท่านเสียชีวิตในการทำศึกครั้งก่อนที่มุอ์ตะหฺ แต่ครั้งนี้อุซามะหฺได้รับชัยชนะอย่างงดงาม นำทรัพย์สินสงครามมากมายยิ่งกว่าการทำศึกครั้งใด ๆเมื่อมุอาวิยะหฺก่อการกบฏเพื่อชิงอำนาจการปกครองจากอิมามอะลีย์อุซามะหฺก็เป็นผู้หนึ่งที่ลังเลในเรื่องนี้ จึงไม่ได้เข้าช่วยท่านอะลีย์ต่อสู้กับมุอาวียะหฺในสงครามกลางเมือง ที่ศิฟฟีน ระหว่างเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม ค.ศ. 657 โดยอ้างเหตุผลส่วนตัวว่า ตนได้สาบานว่าจะไม่ฆ่าฟันผู้ใดก็ตามที่เป็นมุสลิมสาเหตุการสาบานนั้นมาจากการที่ตนเคยฆ่ามิรฺดาซ บินนะหฺยิก ชาวยิวเมืองฟะดักที่เข้ารับนับถืออิสลาม แต่ไม่ได้ประกาศให้ผู้ใดรู้ เมื่อกองทัพของชาวมุสลิมบุกเมืองฟะดัก ชาวยิวในเมืองต่างก็อพยพหนี มิรดาซ ก็ไม่ได้หนีไปเพราะตนเป็นมุสลิม แต่กลับเข้าไปหาและทักทาย เมื่ออุซามะหฺเห็นมิรดาซก็จับเขาฆ่าเสีย แม้ว่ามิรดาซจะกล่าวว่า อัซซะลามุอะลัยกุม และ ลาอิลาหะอิลลัลลอหฺ เพราะคิดว่ามิรฺดาซกล่าวคำนี้ออกมาเพียงเพราะต้องการป้องกันตน หลังจากนั้นก็ริบเอาฝูงแกะของเขาไป เมื่อท่านนบีทราบเข้าก็โกรธและเสียใจเป็นอย่างยิ่ง อุซามะหฺให้เหตุผลว่า มิรฺดาซไม่ใช่มุสลิม การที่เขากล่าวคำดังกล่าวออกมานั้นเป็นเพียงแผนหลอกลวง ท่านนบีจึงอ่านโองการที่เพิ่งลงมาว่า "โอ้ศรัทธาชน หากพวกเธอกรีฑาทัพในแผ่นดิน ก็จงตรวจสอบให้ชัดเจน และอย่ากล่าวแก่ผู้ที่ทักทายส่งสะลามให้แก่พวกเธอว่า เขาไม่ใช่มุสลิม พวกเธอต้องการทรัพย์สินทางโลก" เมื่ออุซามะหฺได้สดับดังนั้นก็เสียใจเป็นอย่างยิ่งกล่าวว่า โปรดขออภัยต่ออัลลอหฺให้แก่ข้าพเจ้าด้วย ท่านนบีกล่าวว่า จะขออภัยโดยไร้คำว่า ลาอิลาหะอิลลัลลอหฺ อย่างนั้นหรือ ตั้งแต่นั้นมาอุซามะหฺก็สาบานว่าจะไม่ฆ่าคนที่กล่าวคำว่า ลาอิลาหะอิลลัลลอหฺ เด็ดขาดแล้วรำพันว่า หากข้าเพิ่งเป็นมุสลิมในตอนนี้ก็คงจะดีจะได้ไม่มีบาปติดตัวในสมัยนั้นมีสาวกอาวุโสของท่านนบีสามคนที่ปลีกตนออกจากกรณีพิพาทอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ไม่ยอมเข้าข้างใด นั่นคือ อับดุลลอหฺ บุตรของคอลีฟะหฺอุมัร สะอัด บินอะบีวักกอศ และ มุฮัมมัด บินมัซละมะหฺ ประวัติศาสตร์บอกว่า แม้อุซามะหฺจะไม่ออกรบเลย แต่อุซามะหฺก็อยู่ฝ่ายอะลีย์ และเคยกล่าวแก่ท่านอะลีย์ว่า หากท่านเข้าในปากสิงห์ ปากมังกร ข้าพเจ้าก็จะขอเข้าไปด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งอุซามะหฺได้ขอส่วนแบ่งจากคลังหลวง อิมามอะลีย์จึงปฏิเสธที่จะให้ทรัพย์สินจากคลังหลวงแก่อุซามะหฺ แต่ได้เสนอที่จะให้ทรัพย์สินส่วนตัวของท่านให้แก่เขาท่านอุซามะหฺเคยอพยพไปอยู่ในกรุงดามัสคัส ประเทศซีเรีย และเกิดคดีพิพาทกับพวกตระกูลอุมัยยะหฺซึ่งได้เป็นผู้ปกครองอาณาจักรอาหรับ แต่ในบั้นปลายของชีวิตก็ได้ย้ายกลับมาเมืองมะดีนะหฺอีกครั้ง ท่านเสียชีวิตที่หมู่บ้านอัลญะร่อฟ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นค่ายที่พักทัพของท่าน ก่อนออกตีชายแดนอาณาจักรโรมันในปาเลสไตน์ศพของท่านถูกฝังในสุสานเมืองมะดีนะหฺ โดยฮุเซน บินอะลีย์หลานตาท่านนบี (ศ) เป็นผู้ทำพิธีอาบน้ำศพให้ อย่างไรก็ตามอุซามะหฺก็ยังเป็นที่รักของตระกูลฮาชิมอยู่ ดุจดังเช่นที่ท่านนบีเคยรักเขาก่อนเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. ที่ 54 ฮุเซนสังเกตเห็นอุซามะหฺมีความกังวลจึงถามว่า ท่านมีความกังวลอันใด อุซามะหฺตอบว่า ติดหนี้อยู่หกหมื่นดิรฮัม ฮุเซนตอบว่า ข้าพเจ้าจะจ่ายเอง อุซามะหฺกล่าวว่า แต่ข้าพเจ้ากลัวว่าจะตายเสียก่อน อิมามฮุเซนกล่าวว่า ท่านจะไม่ตายจนกว่าข้าพเจ้าจะได้จ่ายหนี้ของท่าน]]